ปัจจุบันกิจการส่วนใหญ่ใช้การเซ็นเอกสารผ่านทางออนไลน์แทนการลงนามในกระดาษ เพื่อลดการใช้กระดาษและยิ่งในยุคNew Normal ที่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้มีการพบปะกันน้อยลง การลงนามผ่านระบบออนไลน์ด้วยลายเซ็น e-Signature จึงเป็นประโยชน์และตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยระบบการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว และยังมีความปลอดภัยใกล้เคียงการทำงานรูปแบบเดิม และคาดว่า e-signature จะมีความแพร่หลายมากขึ้นในการทำงานออนไลน์ในอนาคต

e-signature คืออะไร

e-signature ย่อมาจากคำว่า “Electronic Signature“ แปลว่า ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึง ลายเส้นที่บ่งบอกข้อมูล เอกลักษณ์ หรือตัวตนของเจ้าของลายเซ็นนั้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการทำสัญลักษณ์หรือลายเซ็นที่จัดทำโดยบุคคลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการลงนามในเอกสารหรือเพื่อเป็นการยืนยันข้อความในเอกสาร 

โดยข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เลขที่ ขมธอ. 23-2563(Electronic Signature Guidelines) ได้ระบุคำนิยามของ e-signature ไว้ดังนี้

“อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลของผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”

การใช้งาน e-signature

การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แบ่งออกเป็น 3 แบบดังนี้

1 การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป (Standard Signature)

เป็นการลงลายมือชื่อที่เป็นไปตามข้อกำหนด พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา9 ที่ว่า

“ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า
(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ
(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้าง หรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี “

ลักษณะของการลงนาม

เป็นการทำสัญลักษณ์หรือลงลายมือชื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนหรือลงนามในเอกสาร โดยอยู่ในรูปแบบของ รูปภาพลายเซ็นที่เซ็นด้วยปากกาแล้วสแกนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์, การใช้เมาส์ หรือนิ้วมือ หรือ Stylus ในการวาดรูปลายเซ็นลงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์, การพิมพ์ชื่อด้วยคีย์บอร์ด, ลายเซ็นแนบท้ายทางอีเมล์, รูปภาพลายนิ้วมือ, การ tick หน้าข้อความ I agree ใน Electronic Formต่างๆ รวมถึงการคลิกปุ่มตอบรับในข้อมูลใดๆ ไปจนถึงการใช้งานระบบอัตโนมัติ ที่มีการระบุว่าผู้ตอบคือใคร ก็ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ประสิทธิภาพการใช้งาน

การลงลายมือชื่อด้วยวิธีนี้เป็นการลงลายมือชื่อที่มีกฎหมายรองรับ ถึงแม้จะเป็นวิธีที่มีข้อบกพร่องในด้านความปลอดภัย เพราะที่มาของลายเซ็นเป็นการอัปโหลดรูปเข้าระบบ หรือเป็นการลงนามบนหน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สำหรับในองค์กรผู้ที่มีไฟล์ลายเซ็นของพนักงานหรือผู้บริหารอยู่ในมือ สามารถนำไปปลอมแปลงลงนามในเอกสารได้ การใช้งานลายเซ็นประเภทนี้จึงเหมาะกับการลงนามในเอกสารที่ไม่มีความเสี่ยงสูงมากนัก ได้แก่เอกสารที่ใช้ภายในองค์กร เช่น ใบลางาน ใบอนุมัติภายใน ใบเบิกจ่าย ใบขอใช้ทรัพย์สินในองค์กร เป็นต้น  

2 การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ (Advance e-signature หรือ Digital Signature)

เป็นการลงลายมือชื่อที่มีความน่าเชื่อถือมาก เพราะมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการยืนยันการลงลายมือชื่อ การลงลายมือชื่อประเภทนี้เป็นไปตามข้อกำหนดพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรา 26
มาตรา 26 ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อถือได้

  1. ข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นได้เชื่อมโยงไปยังเจ้าของลายมือชื่อ โดยไม่เชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่นภายใต้สภาพที่นำมาใช้
  2. ในขณะสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น ข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อ โดยไม่มีการควบคุมของบุคคลอื่น
  3. การเปลี่ยนแปลงใดๆที่เกิดแก่ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ นับแต่เวลาที่ใช้สร้างขึ้นสามารถจะตรวจพบได้
  4. ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นไปเพื่อรับรองความครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ การเปลี่ยนแปลงใดแก่ข้อความนั้นสามารถตรวจพบได้นับแต่เวลาที่ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยสรุป ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ประกอบด้วย

  1. ข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมืออิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมโยงไปยังเจ้าของลายมือชื่อได้
  2. ข้อมูลที่ใช้สร้างลายมือชื่อ อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อ
  3. สามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดแก่ลายมือชื่อ/ข้อความ นับแต่เวลาที่ได้สร้างขึ้น
องค์ประกอบของ E-Signature

ตัวอย่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้

Digital Signature(ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์)

คือ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ได้จากการเข้ารหัสลับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์(Encrypt) ซึ่งช่วยให้สามารถยืนยันตัวตนผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อและตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของข้อความและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งการทำให้เจ้าของลายมือชื่อไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดจากข้อความที่ตนเองลงลายมือชื่อได้ 

ตัวอย่างเทคโนโลยีที่สร้างลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้หลักการเข้ารหัส/ถอดรหัส(Encryption )อาศัยโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ(Public Key Infrastructure: PKI) โดยผู้สร้างลายมือชื่อจะนำข้อมูลของตนไปแปลงให้อยู่ในรูปแบบข้อความเข้ารหัส ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะเข้าถึงข้อความดังกล่าว จำเป็นต้องถอดรหัสด้วยกุญแจคู่รหัส ขั้นตอนทางเทคนิคเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงความแท้จริงของเอกสาร ซึ่งมาจากเจตนาที่ยอมรับข้อความต่างๆที่ปรากฎในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์  

3 การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ซึ่งมีใบรับรองที่ออกให้โดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง

เป็นการลงลายมือชื่อตามมาตรา 26 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการลงลายมือชื่อประเภทนี้ต้องมีใบรับรองจากผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกำหนดพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 28 ร่วมด้วย 

ตัวอย่างของลายมือชื่อประเภทนี้ เป็นลายมือชื่อดิจิทัลที่ให้บริการโดยผู้ให้บริการรับรอง(Certification Authority:CA) โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. การเข้ารหัสลับ(Encrypt) เป็นการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของลายมือชื่อและข้อความอิเล็กทรอนิกส์
  2. ในขณะลงนาม เจ้าของข้อมูลเป็นผู้ควบคุมการลงนามของตนเอง
  3. มีตัวกลางเป็นผู้ให้บริการออกใบรับรอง ซึ่งเป็นการยืนยันในการลงนามว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเจตนาของผู้ลงนาม
ตรวจสอบ E-Signature

องค์ประกอบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

การลงนามที่ถือว่าเป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบดังนี้

1 สามารถระบุได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อเป็นใคร

   การระบุตัวตนของเจ้าของลายมือชื่อ สามารถทำได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการใช้ตัวอักษร ตัวหนังสือ ตัวเลข หรือสัญลักษณ์อื่นๆที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถใช้ระบุตัวตนได้ ได้แก่ การเข้าถึงเอกสารผ่านอีเมล์หรือไลน์ส่วนตัว, การใช้OTP(One time password), การกรอกUser Password เข้าใช้งาน เป็นต้น

2 มีการระบุเจตนาของเจ้าของลายมือสำหรับข้อความที่ลงนาม

   เป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับรองข้อความในข้อมูลสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงเจตนาในการลงลายมือชื่อ เช่นการลงนามในสัญญาโดยที่สัญญาระบุว่า “ เพื่อเป็นหลักฐานคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้อ่านและเข้าใจข้อความโดยตลอดของสัญญานี้แล้ว จึงลงลายมือชื่อ ณ วันเดือน ปี ที่ปรากฎข้างล่างนี้” หรือ การกดยอมรับหลังจากอ่านข้อความเพื่อเป็นการดำเนินการต่อ เป็นต้น

3 การใช้วิธีการที่เชื่อถือได้

โดยพิจารณาจากลักษณะและประเภทของธุรกรรมที่ทำ ความรัดกุมของวิธีการที่ใช้และระบบติดต่อสื่อสาร เป็นต้น 

มาตรฐานการใช้งาน e-signature

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.)กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ETDA ได้กำหนดมาตรฐานการใช้งาน e-signature ในประเทศไทยเพื่อให้การใช้งานธุรกรรมออนไลน์มีความปลอดภัย โดยการจัดทำ ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เลขที่ ขมธอ. 23-2563(Electronic Signature Guidelines) ดังต่อไปนี้

ประเภทของ E-Signature

จากตารางจะเห็นว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่2 และประเภทที่3 มีระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน(IAL) และระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตน(AAL) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

จากตารางจะเห็นว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทที่2 และประเภทที่3 มีระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน(IAL) และระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตน(AAL) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1 Identity Assurance Level (IAL) 

IAL หมายถึง ระดับความเข้มงวดในการพิสูจน์ตัวตน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่ง IAL ระดับที่ 1 แบ่งออกเป็น 3 ระดับย่อย ๆ เป็นการใช้บัตรประชาชนและหนังสือเดินทาง (Passport) ยืนยันตัวตนซึ่งสามารถทำได้ทั่วไป แต่ในลายเซ็นดิจิทัลในไทยนั้น จะต้องพิสูจน์ตัวตนที่ระดับ IAL 2 ขึ้นไป และยืนยันตัวตนที่ระดับ AAL 2 ได้แก่ การแสดงตนแบบพบเห็นต่อหน้า, การใช้บัตรประชาชน, หนังสือเดินทางหรือวิธีการพิสูจน์ตัวตนแบบอื่น ๆ เช่น ภาพใบหน้า ลายนิ้วมือ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ เป็นต้น

  1. IAL 1 หรือระดับเริ่มต้น หลักฐานที่ใช้แสดงตนได้แก่ บัตรประชาชน, พาสปอร์ตบางกรณีจำเป็นต้องใช้ตัวจริง หรือจะเป็นสำเนาก็ได้
  2. IAL 2 เป็นการเพิ่มระดับการพิสูจน์ตัวตน ด้วยการแสดงตัวตนต่อหน้าหรือไม่ก็ได้ (เช่น ผ่านตู้ Kiosk สำหรับลงทะเบียน หรือแอปพลิเคชัน) พร้อมหลักฐานแสดงตัวตน ได้แก่ บัตรประชาชน, พาสปอร์ต หากใช้บัตรประชาชนในการพิสูจน์ตัวตน จะต้องนำบัตรไปอ่านข้อมูลในชิปการ์ดร่วมด้วย และประกอบกับหลักฐานอื่น ๆ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้าแบบ Biometric รูปถ่าย อีเมล เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
  3. IAL 3 เป็นการพิสูจน์ตัวตนระดับสูงสุด จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต แสดงต่อเจ้าหน้าที่แบบต่อหน้าหรือ VDO Call และต้องนำบัตรประชาชนไปอ่านข้อมูลในชิปการ์ดและตรวจสอบสถานะบัตรแบบออนไลน์ รวมทั้งนำหลักฐานอื่น ๆ มาช่วยพิสูจน์ เช่น ลายนิ้วมือ ใบหน้าแบบ Biometric รูปถ่าย อีเมล เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
ระดับของ E-Signature IAL

2 AAL (Authenticator Assurance Level)

AAL หมายถึง ระดับความเข้มงวดในการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ (Authenticator) ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ซึ่ง AAL ที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาส ความผิดพลาดในการยืนยันตัวตน โดยเทคโนโลยีที่ใช้ใน AAL ทั้ง 3 ระดับก็คือ Single-Factor Authentication และ Multi-Factor Authentication

  1. AAL1 คือ การยืนยันตัวตนแบบ Single-Factor Authentication เพื่อป้องกัน MitM Attack (Man in the Middle Attack) หรือการดักจับรหัสผ่านข้อมูล ได้แก่ การใช้รหัสผ่านหรือถามคำถามที่คำตอบเป็นความลับเฉพาะบุคคล (Memorized Secret), การส่ง SMS รหัส OTP เพื่อยืนยันตัวตน, การใช้ OTP Device, Crypto Software, Crypto Device เป็นต้น
  2. AAL2 คือ การยืนยันตัวตนแบบ Multi-Factor Authentication ด้วยการใช้ Memorize Secret ร่วมกับวิธีอื่น ได้แก่ ชุดข้อมูล Biometric, OTP Device และ Crypto Software นอกจากวิธีนี้จะป้องกัน MitM Attack แล้ว ยังป้องกัน Replay Attack หรือการนำข้อมูลที่ได้ไปกระทำการเลียนแบบ เช่น Login ซ้ำจาก Username และ Password ที่ได้มา
  3. AAL3 ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนระดับสูงสุด เป็นการยืนยันตัวตนแบบ Multi-Factor Authentication และมี Factor หนึ่งเป็น Cryptographic Key ในการยืนยันตัวตนระดับนี้จะมีความซับซ้อน ต้องจับคู่ Crypto Software และ Crypto Device เข้ากับวิธีอื่น ๆ เพื่อป้องกันทั้ง MitM Attack, Replay Attack และ IdP Impersonation Attack 
ระดับของ E-Signature AAL

การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคล

ในการลงลายมือชื่อมีความสำคัญต่อการดำเนินการกิจการขององค์กรนิติบุคคล เพราะแสดงถึงอำนาจในการดำเนินการของผู้ลงนามซึ่งมีผลต่อการทำธุรกรรมในการดำเนินธุรกิจ ETDAจึงได้แนะนำการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคล ไว้ในแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เลขที่ ขมธอ. 23-2563 ดังนี้

1 การลงลายมือชื่อในนามนิติบุคคลโดยผู้มีอำนาจลงนาม

เป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงนามหนึ่งคน คนใดคนหนึ่งหรือหลายคนกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อันเดียวกัน โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการกำหนดผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคลนั้น ดังนั้นผู้มีอำนาจลงนามตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ทุกคน ต้องใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตนในการลงลายมือชื่อ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อันเดียวกันควรใช้ลายมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทและรูปแบบเดียวกัน เพื่อช่วยให้การเก็บรักษาหลักฐานเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2 การลงลายมือชื่อในนามนิติบุคคลโดยบุคคลอื่นที่รับมอบอำนาจ

เป็นการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคลจดทะเบียนโดยบุคคลอื่นที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล กิจการควรจัดทำหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือที่ระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจและข้อจำกัดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในนามนิติบุคคลเพื่อให้สามารถระบุตัวตนของเจ้าของลายมือและขอบเขตความรับผิดได้

หากผู้ใช้งานเลือกใช้ลายมือชื่ออิเล้กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งใช้ใบรับรองสำหรับนิติบุคคลที่ออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง ไม่ว่าข้อมูลของใบรับรองสำหรับนิติบุคคลดังกล่าวจะมีการระบุชื่อผู้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคลไว้หรือไม่ก็ตาม กิจการควรจัดทำหนังสือมอบอำนาจหรือมีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระบุตัวตนของเจ้าของลายมือชื่อและขอบเขตความรับผิดจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

วิธีนำลายเซ็นมาใส่ในเอกสารของPEAK

PEAK ช่วยให้การลงนามเอกสารทางบัญชีและภาษีของผู้ประกอบการง่ายและสะดวกรวดเร็ว โดยผ่านระบบการเพิ่มลายเซ็นผู้ใช้งานของPEAKตามลิงก์ข้างล่างนี้
เพิ่มลายเซ็นต์ของผู้ใช้งานด้วย โปรแกรม PEAK

ทดลองใช้งานฟรี 30 วัน https://secure.peakengine.com/Home/Register

ดูวีดีโอแนะนำการใช้งานได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=9puaO6s7I8k

อ้างอิง: ขอขอบคุณ

ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (E-Signature) คืออะไร ? พบกับประวัติ ประเภท ประโยชน์ และโปรแกรมที่ใช้ (thaiware.com)

ลายมือชื่อดิจิทัลและลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่องเดียวกันมั้ย? ต้องเซ็นยังไง? – สพธอ. (etda.or.th)

ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เเทนกระดาษ ถูกกฎหมาย? (codium.co)

ประกาศเมอวนท-29-พฤษภาคม-พ-ศ-2563-โดยขอเสนอแนะมาตรฐ.aspx (etda.or.th)