biz-dealing-with-rd

การทำธุรกิจย่อมต้องมีเรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมีประเด็นทางภาษีที่กรมสรรรพากรต้องการคำชี้แจงจากผู้ประกอบการ จะมีจดหมายแจ้งมาเพื่อขอเชิญผู้ประกอบการเข้าพบ เมื่อได้รับจดหมายจากกรมสรรพากร ผู้ประกอบการไม่ควรกังวลจนเกินไป แต่ควรมีการเตรียมตัวและหาวิธีรับมือเมื่อถูกสรรพากรเชิญพบ

ทำไมกรมสรรพากรถึงเรียกพบ

การที่กรมสรรพากรจะเรียกผู้ประกอบการเข้าพบมีที่มาของข้อมูลกิจการจากแหล่งต่างๆดังนี้

1. การเข้าตรวจสภาพกิจการ

การที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าตรวจสภาพกิจการหรือจากการสำรวจของสรรพากรพื้นที่ เมื่อพบประเด็นทางภาษีเจ้าหน้าที่สรรพากรจะออกจดหมายเพื่อเชิญเข้าพบ

2. การยื่นขอคืนภาษี

การที่ผู้ประกอบการยื่นขอคืนภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยปกติกรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบรายการที่ขอคืน หรืออาจตรวจสอบรายการที่เกี่ยวข้องด้วย

3. การวิเคราะห์งบการเงินและแบบแสดงรายการภาษี

จากการวิเคราะห์งบการเงิน กรมสรรพากรจะพิจารณาประเด็นความเสี่ยงจากรายการในงบการเงิน ได้แก่

รายได้
รายได้ที่แสดงในงบการเงินไม่สัมพันธ์กับต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงว่ากิจการบันทึกรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

เงินกู้ยืมกรรมการ
กิจการไม่มีเงินกู้ยืมกรรมการจริง แต่มีรายการอยู่ในงบการเงิน อาจแสดงให้เห็นว่ากิจการแสดงรายได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง

เงินสด
กิจการใช้เงินสดชำระรายการค้าทุกรายการ หรือการบันทึกบัญชีจ่ายด้วยเงินสดทั้งหมด หรือกิจการไม่มีการกระทบยอดรายการเงินสด

การเตรียมตัวเมื่อกรมสรรพากรเรียกพบ

การเตรียมตัวเมื่อสรรพากรเรียก

ในการเตรียมตัวเพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ผู้ประกอบการควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ทำความเข้าใจประเด็นเรื่องที่สรรพากรขอเชิญพบ

ก่อนอื่นผู้ประกอบการควรอ่านข้อความในจดหมายและทำความเข้าใจเนื้อความในจดหมายว่าประเด็นที่กรมสรรพากรขอพบคือเรื่องใด เกี่ยวข้องกับภาษีประเภทใด เป็นของช่วงเวลาใด เช่น เรื่องการขอเชิญพบเพื่อตรวจสอบการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม ปี 2561, เรื่องการขอเชิญพบเพื่อตรวจสอบการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2562 เป็นต้น

2. ทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่กรมสรรพากรต้องการ

ผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจว่ากรมสรรพากรมีความประสงค์อย่างไร เช่น ขอเชิญพบ ขอตรวจสอบ ขอข้อมูล หรือขอให้เป็นพยาน เป็นต้น เพื่อผู้ประกอบการจะได้จัดเตรียมหลักฐานเอกสารให้ครบถ้วนตามที่กรมสรรพากรแจ้งมา และจัดเตรียมบุคลากรผู้ชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร

3. หลักฐานที่กรมสรรพากรต้องการ

เป็นการจัดเตรียมแฟ้มเอกสารหรือที่เกี่ยวข้อง เช่น แฟ้มใบกำกับภาษีซื้อ แฟ้มสำเนาใบกำกับภาษีขาย แฟ้มสำเนาใบลดหนี้ เป็นต้น เอกสารเช่นเอกสารใบกำกับภาษีซื้อ สำเนาใบกำกับภาษีขาย สำเนาใบเสร็จรับเงิน หลักฐานการรับเงิน หลักฐานการจ่ายเงิน เอกสารการบันทึกบัญชี เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถเดินทางเข้าพบด้วยตนเองก็ต้องทำหนังสือมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการเข้าชี้แจงต่อกรมสรรพากร พร้อมสำเนาบัตรประชาชนรับรองสำเนาของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ เพื่อดำเนินการแทน

4. จัดเตรียมข้อมูลเป็นรายเอียดประกอบเพื่อชี้แจงต่อกรมสรรพากร

ผู้ประกอบการควรจัดการในเตรียมข้อมูลที่เป็นรายละเอียดประกอบการชี้แจง ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบรายงาน หรือพิมพ์เป็นรูปแบบเอกสาร เช่น การจัดทำ worksheet การกระทบยอดรายได้ตามแบบภ.พ.30 และแบบภ.ง.ด. 50, การจัดทำรายละเอียดประกอบรายการค่าใช้จ่ายบวกกลับ พร้อมเอกสารประกอบ เป็นต้น

5. กำหนดผู้รับผิดชอบในการชี้แจงต่อกรมสรรพากร

ในการชี้แจงต่อกรมสรรพากร ผู้ประกอบการควรมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่มีความรู้ทางด้านภาษีในการชี้แจงต่อกรมสรรพากร ได้แก่ นักบัญชีของกิจการหรือสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชีของกิจการซึ่งดูแลเรื่องภาษี ในกรณีที่มีประเด็นทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องอาจมีทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าไปชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรด้วย

6. การติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตามที่ระบุในจดหมาย

ผู้ประกอบการควรติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากร ซึ่งโดยปกติในจดหมายจะระบุเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อไว้ เพื่อแจ้งยืนยันการเข้าพบตามวันและเวลาที่ระบุไว้ในจดหมาย ในกรณีที่กิจการไม่สามารถเข้าพบเจ้าหน้าที่สรรพากรได้ตามวันและเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด โทรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอแจ้งเลื่อนวันและเวลาที่เข้าพบ

ในการเข้าพบกรมสรรพากรเป็นการตรวจสอบว่ากิจการมีประเด็นทางภาษีเรื่องใดที่ควรกลับมาพิจารณาแก้ไข ธุรกิจที่ทำอยู่มีความเสี่ยงเรื่องภาษีในด้านใดบ้าง เพื่อไม่ให้ถูกกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบอีก ซึ่งหากผู้ประกอบการมีการจ้างสำนักงานบัญชีอยู่แล้ว สำนักงานบัญชีจะทำหน้าที่จัดการเมื่อกรมสรรพากรเรียกพบ เพื่อจัดการเรื่องภาษีให้เรียบร้อย โดย PEAK มีสำนักงานบัญชีพันธมิตรมากกว่า 500 รายทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการบัญชีภาษี ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ลดโอกาสเรียกพบของกรมสรรพากร

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์