tax-signboardtax

ในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ในฐานะลูกค้าเราคงจะไม่ปฏิเสธกันว่า สิ่งที่ทำให้ลูกค้าสะดุดตาและอยากเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการ นอกเหนือไปจากการตกแต่งร้านหรือการจัดโปรโมชั่นแล้ว ก็คือ ป้ายหน้าร้านค้าซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาจะสังเกตเห็นและมองเป็นอันดับแรก แต่ทราบกันหรือไม่ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับป้ายไม่ใช่แค่ค่าออกแบบป้ายหรือค่าติดตั้งเท่านั้น แต่ยังมีภาษีป้ายซึ่งเจ้าของธุรกิจรวมทั้งนักบัญชีต้องศึกษาทำความเข้าใจเนื่องจากภาษีป้ายถือเป็นค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจด้วย

ลักษณะของป้ายที่ดี

ในการทำธุรกิจ ป้ายหน้าร้านมีส่วนทำให้ร้านค้าน่าสนใจและดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ โดยลักษณะของการออกแบบป้ายที่ดีที่เจ้าของกิจการควรจัดทำนั้น ประกอบไปด้วย

1. การจัดวางภาพรวมของป้าย

ในการจัดทำป้ายของกิจการ ภาพรวมของป้ายเป็นสิ่งที่เจ้าของกิจการควรใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะข้อความที่ดึงดูดและเป็นที่จดจำของลูกค้า รวมทั้งการเลือกใช้สี การจัดวางตัวอักษรที่เหมาะสมที่ทำให้ลูกค้าสามารถอ่านและเข้าใจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ระยะในการมองเห็นป้ายกิจการของลูกค้าก็มีความสำคัญ ในการจัดวางตัวอักษรหรือแผ่นป้ายควรคำนึงระดับการมองเห็นของคนทั่วไปด้วย โดยระยะการมองของคนทั่วไปโดยพื้นฐาน มุมมองสูงสุดระดับสายตาจะอยู่ที่ 50 องศา การเคลื่อนระดับสายตาระดับสูงจะอยู่ที่ 30 องศา ระดับการมองเห็นฉับพลันจะอยู่ที่ 15 องศา ระดับการมองเห็นปกติจะอยูที่ 10 องศา เป็นต้น 

2. การเลือกใช้สีป้ายร้าน

เจ้าของกิจการส่วนใหญ่มักจะเลือกสีที่ชอบเป็นการส่วนตัว หรือเลือกสีที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของแบรนด์ แต่นอกจากนั้นสิ่งที่ควรคำนึงอีกประการหนึ่ง ก็คือ การปรับโทนสีให้เหมาะสมและเน้นการใช้งานในระยะยาว โดยมีแนวทางในการเลือกสีของป้ายร้านดังต่อไปนี้

ผู้ประกอบการควรเลือกใช้สีโทนเดียว โดยปกติสีแบ่งออกเป็น 2 โทนคือ สีโทนร้อนและสีโทนเย็น สีโทนร้อนได้แก่ สีแดง สีส้ม สีเหลือง  ซึ่งมีผลต่อความรู้สึกตื่นเต้น เร้าใจ  กระฉับกระเฉง สีโทนเย็น ได้แก่ สีน้ำเงิน  สีเขียว ซึ่งให้ความรู้สึกสดชื่น สงบ เย็นตา ในการใช้สีโทนเดียวกันของป้ายจะทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ทำให้เกิดความกลมกลืนและมีแรงจูงใจให้เกิดการคล้อยตามได้ การเลือกใช้สีดังที่กล่าวมาไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับคอนเซ็ปต์ของร้านหรือตัวตนของแบรนด์ จะช่วยสร้างความน่าสนใจ ช่วยสร้างการรับรู้และจดจำของลูกค้า

3. วัสดุที่ใช้ในการทำป้าย

วัสดุที่ใช้ในการทำป้าย ได้แก่ อะคริลิก ไวนิล อะลูมิเนียม สแตนเลส พลาสวูด เป็นต้น นอกเหนือจากประเภทของวัสดุควรคำนึงถึง ระยะเวลาในการใช้งานและความทนทานของวัสดุ

เมื่อจัดทำป้ายร้านค้าแล้ว สิ่งสำคัญที่เจ้าของจะลืมไม่ได้คือเรื่องของภาษีป้าย ที่จะต้องยื่นแบบเสียภาษีให้ ถูกต้องตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนด

ภาษีป้ายคืออะไร

ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 6 ป้าย หมายความว่าป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่น เพื่อหารายได้หรือโฆษณาการค้า ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น 

ภาษีป้าย คือ ภาษีที่จัดเก็บจากป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือ ในรูปของเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือเพื่อใช้ในการประกอบกิจการเพื่อหารายได้ หรือ ในรูปของโลโก้บนวัตถุต่างๆ ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของป้ายทั่วไป ป้ายบนทางด่วน ป้ายผ้าใบ รวมทั้งป้ายไฟที่ใช้ในการหารายได้หรือการโฆษณา

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

เจ้าของป้ายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ในกรณีที่ไม่มีผู้ยื่นแบบภาษีป้าย หรือเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จัดเก็บภาษีไม่สามารถหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ถ้าไม่อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับ

หน่วยงานที่จัดเก็บ

หน่วยราชการส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่จัดเก็บภาษีป้าย หน่วยราชการส่วนท้องถิ่น หมายความว่า เทศบาล สุขาภิบาล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย

เขตราชการส่วนท้องถิ่น ได้แก่

1. เขตเทศบาล

2. เขตสุขาภิบาล

3. เขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด

4. เขตกรุงเทพมหานคร

5. เขตเมืองพัทยา

6. เขตองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่น

อัตราภาษีป้าย

อัตราภาษีป้ายตามกฎกระทรวงอัตราภาษีป้าย พ.ศ. 2563 บังคับใช้สำหรับป้ายที่ต้องเสียภาษีป้ายตั้งแต่   วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป มีดังนี้

อัตราภาษีป้าย

การคำนวณภาษีป้าย

ในการคำนวณภาษีป้าย ผู้ประกอบการสามารถคำนวณจากสูตรนี้

 ภาษีป้าย = พื้นที่ป้าย(ตร.ซม.) x อัตราภาษีป้าย/ 500 ตร.ซม.

1. การคำนวณหาพื้นที่ป้าย ให้พิจารณาจาก

1.1 ป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้ 

โดยพื้นที่ป้าย คำนวณจากส่วนที่กว้างที่สุด คูณด้วยส่วนที่ยาวที่สุดของขอบเขตป้าย

1.2 ป้ายที่ไม่มีขอบเขตที่กำหนดได้

ให้ถือตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขตเพื่อกำหนดส่วนที่กว้างที่สุด และยาวที่สุด
และนำมาคำนวณหาพื้นที่ป้ายแบบเดียวกับข้อ 1.

เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ถ้ามีเศษเกินกึ่งหนึ่งของ 500 ตารางเซนติเมตร ให้นับเป็น 500 ตารางเซนติเมตร ถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่งให้ปัดทิ้ง 

2. จากนั้นจึงคำนวณหาภาษีป้ายจากตารางอัตราภาษีป้ายข้างต้นโดยพิจารณาตามประเภทของป้าย

กรณีที่คำนวณภาษีป้ายได้ต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้กิจการเสียภาษีป้ายละ 200 บาท

ตัวอย่าง การคำนวณภาษีป้าย

           1. การคำนวณพื้นที่ป้าย

ตัวอย่าง การคำนวณภาษีป้าย

  เช่น กรณีเป็นป้ายประเภทที่1 ที่มีตัวอักษรไทยล้วน อัตราภาษี 10 บาทต่อ 500 ตร.ซม. พื้นที่ป้ายที่คำนวณ

              ได้จากข้อ 1 พื้นที่ป้าย เท่ากับ 57,600 ตร.ซม.      

                      จากสูตร           ภาษีป้าย= พื้นที่ป้าย (ตร.ซม.) x อัตราภาษีป้าย/ 500 ตร.ซม.

                                                    ภาษีป้าย = 57,600 x 10 /500         

                                                                 = 1,152 บาท

ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี

ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษีป้าย มีดังนี้

ที่จริงแล้วไม่ใช่ว่าทุกป้ายโฆษณาจะต้องเสียภาษีป้ายทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย ได้ระบุป้ายที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีป้าย

2.1 ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้น เพื่อโฆษณามหรสพ

2.2 ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า

2.3 ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว

2.4 ป้ายที่แสดงไว้ที่คน หรือสัตว์

2.5 ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่น หรือภายในอาคารซึ่ง

เป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้เพื่อหารายได้และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึง

ป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์

2.6 ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วย

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

2.7 ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล หรือตาม

กฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ

2.8 ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการ

สหกรณ์

2.9 ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตาม

กฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือ

สถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น

2.10 ป้ายของผู้ประกอบการเกษตร ซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน

2.11 ป้ายของวัด หรือผู้ดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ

2.12 ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ

2.13 ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.14 ป้ายที่ติดหรือที่แสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล

2.15 ป้ายที่ติดหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ หรือรถแทรกเตอร์

2.16 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะ นอกเหนือจากข้อ 2.17 โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.

การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้าย

เจ้าของป้าย ที่มีหน้าที่เสียภาษีป้าย ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี

ในกรณีที่ติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคมหรือติดตั้งป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้ายอันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ติดตั้งป้ายหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้าย

– สำหรับผู้ยื่นเสียภาษีป้ายรายใหม่

เมื่อผู้ประกอบการทำการจัดทำป้ายร้านค้าที่ต้องเสียภาษีป้ายร้านค้าแล้ว ก่อนการติดตั้งจะต้องแจ้ง         เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต เทศบาลหรือหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นที่จัดเก็บภาษีป้าย ซึ่งระยะเวลาในการยื่นประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายไม่เกินวันที่ 31 มีนาคมของปี ถ้ามีการติดตั้ง แก้ไข หรือเพิ่มป้าย หลังจากวันที่ 31 มีนาคม ของปีนั้น ให้ยื่นแบบประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายภายใน 15 วัน หลังจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงป้าย

เอกสารที่ใช้ในการยื่นประเมิน

สำหรับเอกสารที่ใช้ในการยื่นประเมินเพื่อเสียภาษีป้ายกรณีเป็นผู้ยื่นรายใหม่ มีดังนี้

1. ใบอนุญาตติดตั้งป้าย ใบเสร็จรับเงินค่าทำป้าย

2. รูปป้าย พร้อมขนาด กว้างxสูง

3. สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน

4. กรณีเจ้าของป้ายเป็นนิติบุคคล ต้องแนบหนังสือรับรองนิติบุคคล เอกสารการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ภ.พ.20 ภ.พ.09 เป็นต้น

5. หนังสือมอบอำนาจ กรณีที่เจ้าของกิจการไม่สามารถยื่นเอกสารได้ด้วยตนเอง

เอกสารที่ใช้ในการยื่นประเมินภาษีป้าย

เงินเพิ่ม

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย จะต้องชำระเงินเพิ่มในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้

1. ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของจำนวนที่ต้องเสียภาษีป้าย เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้แจ้งให้ทราบถึงการละเว้นนั้นให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย

2. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีที่เจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน

3. ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดิอนของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน ทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตาม (1) และ (2) มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามข้อนี้ด้วย

บทลงโทษ

1. ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท

3. ผู้ใดไม่เสียภาษีป้ายภายในวันที่กำหนด ต้องระวางโทษปรับวันละ 100

4. ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้าย หรือไม่แสดงหลักฐานการเสียภาษีป้าย ณ สถานประกอบการค้า หรือสถานประกอบการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท

ติดตามความรู้ทางบัญชี ภาษี ได้ที่ บทความ – PEAK Blog (peakaccount.com) 

ทดลองใช้งานโปรแกรมบัญชึ PEAK ได้ที่ https://peakaccount.com

สอบถามเพิ่มเติม คลิก https://m.me/peakengine

อ้างอิง :

พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510

พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2534

กฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้าย พ.ศ.2563

6 เรื่องควรรู้ก่อนทำป้ายหน้าร้าน (rantiddao.com)

องค์ประกอบของป้ายร้านที่ดี ควรมีลักษณะอย่างไร? – HLVISION (hlvisioninkjet.com)


คำถามที่พบบ่อย (FAQs)