tax-loss-making-companies

โดยทั่วไปเจ้าของกิจการมักเข้าใจว่าเมื่อกิจการมีผลขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ผู้ประกอบการวางแผนภาษีด้วยการทำให้ผลประกอบการของกิจการขาดทุน ในการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวของเจ้าของกิจการ นักบัญชีจะรวบรวมใบเสร็จรับเงินหรือบิลค่าใช้จ่ายมาเพิ่มเพื่อให้กิจการมีผลขาดทุน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่หามาเพิ่มส่วนใหญ่มักเป็นรายจ่ายส่วนตัวของเจ้าของกิจการ หรือเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ

การยื่นภาษีของกิจการ

การยื่นภาษีของกิจการ

ปกติการยื่นภาษีของกิจการต่างๆ คำนวณจากกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี/ขาดทุนสุทธิทางภาษี ซึ่งต่างจากตัวเลขกำไร(ขาดทุน)สุทธิทางบัญชี โดยกำไร(ขาดทุน)สุทธิทางบัญชีคำนวณจาก รายได้ของกิจการ หักด้วยค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นตัวเลขที่แสดงในงบกำไรขาดทุน

แต่กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี/ขาดทุนสุทธิทางภาษี เกิดจากการคำนวณกำไร(ขาดทุน)สุทธิทางบัญชี ที่ปรับปรุงด้วยรายการดังต่อไปนี้

1. รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ การโอนทรัพย์สิน การให้บริการ และการให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือดอกเบี้ย หรือมีแต่ต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร รายได้ทางภาษีมาจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินฯ โดยเจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะประเมินให้เป็นไปตามราคาตลาดในวันที่เกิดรายการดังกล่าว เป็นต้น

2. รายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร หรือที่เรียกว่ารายจ่ายต้องห้าม ได้แก่ รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัว การให้โดยสเน่หา, รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ,ค่ารับรองทีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น

3. รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ได้แก่เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทจำกัด, เงินปันผลที่ได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น

4. รายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายที่จ่ายจริง เช่น รายจ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรม, รายจ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ เป็นต้น

ซึ่งสรุปเป็นสมการได้ดังนี้

กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี/ขาดทุนสุทธิทางภาษี =  กำไร(ขาดทุน)สุทธิทางบัญชี + รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ตามประมวลรัษฎากร + รายจ่ายที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายตามประมวลรัษฎากร – รายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ -รายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายที่จ่ายจริง

บริษัทขาดทุนต้องยื่นภาษีหรือไม่

จากที่กล่าวมาข้างต้น การที่ผู้ประกอบการจัดหาใบเสร็จรับเงินหรือบิลค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้เนื่องจากเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี ด้วยความเข้าใจว่าจะนำมาใช้บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายและทำให้เกิดผลขาดทุนซึ่งจะได้ไม่ต้องเสียภาษีนั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในทางกลับกันเมื่อคำนวณภาษีแล้วยิ่งทำให้มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี จึงสรุปได้ว่า เมื่อบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนซึ่งหมายถึงขาดทุนทางบัญชี ก็มีโอกาสที่บริษัทจะเสียภาษีได้ถ้าคำนวณแล้วเกิดกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าคำนวณแล้วมีผลขาดทุนสุทธิทางภาษี บริษัทก็ไม่ต้องเสียภาษี

การวางแผนภาษีของธุรกิจ

การวางแผนของธุรกิจ

ในการวางแผนภาษีของบริษัท เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงผู้ประกอบการควรพิจารณาเพิ่มรายจ่ายที่เป็นรายจ่ายทางภาษีได้แก่ รายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายที่จ่ายจริง ได้แก่ รายจ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรม,รายจ่ายในการจ้างคนพิการหรือผู้สูงอายุ รวมทั้งควบคุมไม่ให้เกิดรายจ่ายต้องห้ามประเภทรายจ่ายส่วนตัว, ค่ารับรองที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หรือ การควบคุมไม่ให้ใช้บิลเงินสดในการเบิกจ่าย เป็นต้น

ติดตามความรู้จาก โปรแกรมบัญชี PEAK ได้ที่ peakaccount.com
หรือเข้าใช้งานโปรแกรม คลิก เข้าสู่ระบบ PEAK