biz-start-running-business

การมีธุรกิจส่วนตัวเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคนที่อยากมีอิสรภาพทั้งทางการเงินและเวลา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) ยิ่งในปัจจุบันการมีงานประจำไม่ได้การันตีถึงความมั่นคงเสมอไป สภาพความกดดันในการทำงาน รายจ่ายที่ไม่สัมพันธ์กับรายรับ รวมทั้งวิกฤติต่างๆที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนยุคนี้ตื่นตัวและให้ความสนใจที่จะทำธุรกิจส่วนตัวกันมากขึ้น

ทำธุรกิจส่วนตัวต้องเตรียมพร้อมด้านไหนบ้าง

อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจส่วนตัวไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่คิดจะทำธุรกิจควรต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ต่อไปนี้

1. ความรู้ความเข้าใจในธุรกิจที่ทำ

ความรู้และข้อมูลในธุรกิจที่ทำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจ เช่น ผู้ที่สนใจทำธุรกิจแฟรนไชส์ ควรศึกษาหาข้อมูลความรู้ในธุรกิจที่จะทำ หาข้อมูลรูปแบบการลงทุน ทำความเข้าใจตัวสินค้า ค่าแฟรนไชส์ในการลงทุน โอกาสในการคืนทุน เป็นต้น ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้นๆเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

2. รูปแบบการดำเนินธุรกิจ

ก่อนอื่นผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจควรพิจารณารูปแบบการทำธุรกิจว่าจะเป็นแบบเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท โดยประเมินความเหมาะสมและข้อดีข้อเสียในรูปแบบธุรกิจแต่ละประเภท การจดทะเบียนธุรกิจ เป็นการแจ้งเกิดธุรกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้ที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจควรมีพื้นฐานความรู้ในเรื่องของการจดทะเบียนธุรกิจด้วย โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับบุคคลธรรมดา ซึ่งเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
  2. การจดทะเบียนนิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด

ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเพราะส่งผลดีค่อความน่าเชื่อถือ มีการทำงานเป็นระบบเป็นขั้นตอน และเอื้ออำนวยต่อการระดมทุนเช่นการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

3. เงินลงทุน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ ผู้ลงทุนควรมีเงินทุนเพียงพอในการเริ่มต้นธุรกิจ ไม่ควรนำเงินเก็บทั้งหมดมาลงทุน ต่อเมื่อมีการขยายกิจการจึงค่อยพิจารณาการกู้เงิน ผู้ที่จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนใหญ่นิยมเปิดในรูปของบริษัทจำกัดซึ่งในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดให้ชำระค่าหุ้น ณ วันจดทะเบียนจัดตั้ง ไม่ต่ำกว่า 25% ของทุนที่จดทะเบียน

เช่น ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาทต้องชำระค่าหุ้น ณ วันจดทะเบียนจัดตั้งไม่ต่ำกว่า 250,000 บาท การจัดตั้งบริษัท กฏหมายกำหนดให้มีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คนขึ้นไปในการจัดตั้งบริษัท ปัจจุบันการจดทะเบียนจัดตั้งโดยเจ้าของคนเดียวหรือสองคนยังคงเป็นร่างกฎหมายที่รออนุมัติอยู่ ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทควรมีเงินทุนสำหรับชำระค่าหุ้นดังกล่าวข้างต้น

4. มีความเข้าใจถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและช่องทางการจัดจำหน่าย

เป็นการกำหนดว่าลูกค้าของกิจการคือใคร อยู่ที่ไหน ควรศึกษาความต้องการของตลาดและพฤติกรรมในการซื้อสินค้าของลูกค้า ปัจจัยที่ลูกค้าใช้ในการตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงช่องทางการจัดจำหน่ายในการเข้าหาลูกค้าเช่นการผ่านช่องทางออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ประกอบด้วย ช่องทาง Social Network ได้แก่ Facebook, LINE, Instagram เป็นต้น ช่องทาง Marketplace ได้แก่ Lazada, Shopee เป็นต้น หรือการขายผ่าน Website ของกิจการ รวมทั้งช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ได้แก่ ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น หรือแม้แต่การขายผ่านร้านค้าแบบสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ,ซูเปอร์มาร์เก็ต,การขายผ่านแคตตาล็อก เป็นต้น

5. การเตรียมจ้างงานบุคลากร

ผู้เริ่มต้นธุรกิจควรคำนึงถึงบุคลากรที่จะมาร่วมงานตามความเหมาะสม ในช่วงแรกที่ยังไม่มีจำนวนรายการซื้อขายมากเจ้าของสามารถดำเนินการได้เพียงคนเดียวหรือจ้างเจ้าหน้าที่ 1-2 คน มาช่วยงานเอกสารทั่วๆไป และปรับเปลี่ยนในการจ้างพนักงานในส่วนงานต่างๆเมื่อมีการขยายตัวของกิจการ ไปจนถึงการจัดโครงสร้างองค์กรมีการแบ่งแผนกตามหน้าที่งานเมื่อมีการบริหารงานในรูปของบริษัท

6. การจัดทำแผนธุรกิจ

การศึกษาเรียนรู้ในการทำแผนธุรกิจจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นการประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของกิจการเอง รวมทั้งโอกาสและความเสี่ยงในการทำธุรกิจ การวิเคราะห์คู่แข่ง การจัดหาคู่ค้าทางธุรกิจเช่น ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ,พันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น รวมทั้งการประเมินต้นทุนต่อหน่วยของสินค้า การกำหนดจุดขายของธุรกิจ การนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ เป็นต้น

7. การเตรียมความพร้อมในการทำบัญชี

ถ้ากิจการเป็นรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการทำบัญชีและจัดหาผู้สอบบัญชี แต่ต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด ซึ่งเป็นหลักฐานประกอบการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานของกิจการได้

แต่กรณีกิจการที่เป็นนิติบุคคลต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีของกิจการ โดยในการทำบัญชีกิจการสามารถจ้างสำนักงานบัญชี, ผู้ทำบัญชีอิสระหรือจ้างนักบัญชีเอง กิจการควรจัดหาโปรแกรมบัญชีที่มีความทันสมัยเหมาะสมกับกิจการเพราะจะช่วยให้การทำบัญชีสะดวกรวดเร็ว ปัจจุบันมีโปรแกรมบัญชีแบบออนไลน์ให้เลือกใช้ สามารถสร้างเอกสารทางบัญชีได้ทางออนไลน์ มีระบบการตรวจสอบทุกขั้นตอนในการออกงบการเงิน มีระบบการเก็บรักษาข้อมูลที่ปลอดภัยและให้งบการเงินที่ถูกต้องทันเวลาและรายงานทางการเงินที่สำคัญทางธุรกิจที่ผู้ประกอบการนำไปใช้วางแผนได้

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์

อ้างอิง:
https://www.thewafflesupply.com/
8 ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าของกิจการสำหรับมือใหม่และมนุษย์เงินเดือน 6 กุมภาพันธ์ 2562
http://blogpeakaccount.todsorb.dev/blog/ จดทะเบียนธุรกิจ 20 กันยายน 2562