tax-smes-management

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ ภาษีถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ที่ต้องคำนึงถึงในการดำเนินธุรกิจ เพราะเมื่อรายได้เพิ่มขึ้น อัตราภาษีก็เปลี่ยนไป ทำให้หลายธุรกิจเลือกที่จะหาวิธีการบริหารและจัดการให้ประหยัดภาษีมากที่สุด

5 เทคนิคที่จะช่วยให้การจัดการภาษีมีประสิทธิภาพ

1. ศึกษาทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ SMEs ได้รับ

ผู้ประกอบการ SMEs ควรศึกษาและทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับเพื่อใช้ในการวางแผนการบริหารจัดการให้ได้รับสิทธิประโยชน์ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดภาษีได้ โดยกรมสรรพากรได้ทำการส่งเสริมและสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการบรรเทาภาระภาษีและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SMEs ให้เกิดสภาพคล่องมากยิ่งขึ้น

1.1 สิทธิประโยชน์ในการได้รับยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อมีผลประกอบการกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาทและได้รับการลดอัตราภาษี เมื่อมีกำไรสุทธิมากกว่า 300,000 บาท ดังข้อมูลที่แสดงในรูปที่ 1

กานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
รูปที่ 1 การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับธุรกิจ SMEs

1.2 สิทธิประโยชน์ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวร(ไม่รวมที่ดิน) มูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ที่ซื้อทรัพย์สินมาใช้งาน ถ้าทรัพย์สินนั้นใช้งานเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่งได้ ดังข้อมูลที่แสดงในรูปที่ 2

การหักค่าเสื่อมราคา
รูปที่2 การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

1.3 สิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายในการฝึกอบรม

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ 2 เท่า ดังข้อมูลที่แสดงในรูปที่ 3

การหักรายจ่ายค่าฝึกอบรมพนักงาน
รูปที่ 3 การหักรายจ่ายในการฝึกอบรม

1.4 สิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายในการลงทุนในเครื่องจักร

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรได้ 1.5 เท่า แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ดังข้อมูลที่แสดงในรูปที่ 4

การหักรายจ่ายในการลงทุนเครื่องจักร
รูปที่ 4 การหักรายจ่ายในการลงทุนในเครื่องจักร

2. ศึกษาภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ SMEs

โดยทั่วไปภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจSMEs แบ่งออกเป็นภาษีทางตรงและภาษีทางอ้อม

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากรายได้และทรัพย์สินต่างๆของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยไม่สามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้อื่นได้ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ภาษีป้าย เป็นต้น

ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่ภาครัฐจัดเก็บจากผู้บริโภคเป็นภาษีที่เป็นการผลักภาระทั้งหมดหรือบางส่วนให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้รับชำระภาษีอากรแทนผู้ขาย ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ, อากรแสตมป์ เป็นต้น

3. จัดให้มีระบบบัญชีที่ดี

ระบบบัญชีที่ดี ได้แก่ การจัดทำแฟ้มเอกสารทางบัญชีอย่างเป็นระบบ มีการจัดเรียงเอกสารตามลำดับเลขที่ เอกสารประกอบการลงบัญชีที่กิจการจัดทำและเอกสารที่กิจการได้รับจากบุคคลภายนอก ได้แก่ ใบสั่งซื้อ ใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น มีความถูกต้องตามหลักการบัญชีและกฎหมายประมวลรัษฎากร มีการจัดทำแฟ้มเอกสารทางบัญชีอย่างเป็นระบบ เอกสารมีการจัดเรียงตามลำดับเลขที่ มีการจัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน การจัดทำสต๊อคสินค้า มีการปิดบัญชีทุกเดือน การบันทึกบัญชีครบถ้วนถูกต้อง

ระบบบัญชีที่ดีจะช่วยให้กิจการลดความเสี่ยงในการเสียค่าปรับทางภาษี และการปิดงบการเงินทุกเดือนทำให้ทราบผลกำไรที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนสามารถวางแผนภาษีประจำปี เพื่อให้ธุรกิจอย่างกิจการSMEsได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การยกเว้นหรือลดอัตราภาษี การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง การหักค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้างของบริษัทได้ 2 เท่า เป็นต้น

การปรึกษาด้านภาษีกับผู้เชี่ยวชาญ

4. เลือกที่ปรึกษาทางบัญชีและภาษีที่มีความเชี่ยวชาญ

ไม่ว่าจะเป็นนักบัญชี สำนักงานบัญชี หรือผู้สอบบัญชี นอกจากงบการเงินมีความถูกต้องน่าเชื่อถือแล้ว ยังช่วยให้คำแนะนำและวางแผนทางภาษีเป็นการลดภาระและความยุ่งยากของผู้ประกอบการในเรื่องภาษีได้ ทำให้ธุรกิจเสียภาษีอย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงในการเสียค่าปรับทางภาษีและทำให้ผู้ประกอบการใช้เวลาไปในการบริหารจัดการ วางแผนและเพิ่มยอดขายของกิจการ

5. แยกรายจ่ายส่วนตัวกับรายจ่ายของธุรกิจออกจากกัน

ตามหลักกฎหมายสถานภาพของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารถือเป็นบุคคลธรรมดา ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนมีสภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งต้องแยกจากกัน ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของSMEsคือการไม่แยกกระเป๋าธุรกิจกับเงินส่วนตัว ทำให้ไม่สามารถแยกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้อย่างชัดเจน ซึ่งรายจ่ายส่วนตัวตามประมวลรัษฎากรมาตรา65 ตรี ข้อ (3) ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม บริษัทจะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้

เทคนิคทั้ง 5 ข้อข้างต้นที่กล่าวมานี้ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถจัดการและเรื่องภาษีได้เป็นอย่างดี ช่วยประหยัดภาษีและลดความเสี่ยงจากการเสียค่าปรับทางภาษี และสิ่งที่สำคัญของงานธุรกิจ คืองานบัญชีที่นอกจากจะช่วยจัดการบัญชีแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์บริษัท และพัฒนาบริษัทให้เติบโตได้เร็วมากขึ้น

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com 
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์

ติดตามความรู้ของ PEAK ที่
Blog : http://peakaccount.com/blog
Facebook : facebook.com/peakengine

อ้างอิง: บทความเรื่อง การวางแผนภาษีนิติบุคคลของธุรกิจSMEs
https://bsc.dip.go.th/th/category/financial-accounting/fs-TaxPlanning
บทความเรื่องเคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจSMEs ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/tax-tips-for-sme-1
www.rd.go.th/ความรู้เรื่องภาษี/SMEs/สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจSMEs