เตรียมตัวจดบริษัท

ผู้ที่คิดจะทำธุรกิจส่วนตัว นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องความรู้ของธุรกิจ, ความต้องการของตลาด, คู่แข่ง, กฎหมายและภาษีที่เกี่ยวข้อง, หน่วยราชการที่ต้องติดต่อด้วย สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนจดทะเบียนบริษัทครั้งแรก โดยแต่ละรูปแบบมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันไป ในการเลือกรูปแบบธุรกิจควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆประกอบ ได้แก่ ขนาดและประเภทของธุรกิจ ความรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการ ภาระภาษี โอกาสการเติบโตในอนาคต เป็นต้น

ทำไมคนทำธุรกิจนิยมจัดตั้งบริษัทจำกัด

1. มีความน่าเชื่อถือสำหรับบุคคลภายนอก

ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งในการทำธุรกิจ ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร การจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจึงสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของคู่ค้าและลูกค้า

2. โอกาสในการระดมเงินทุน

บริษัทสามารถหาแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่ารูปแบบธุรกิจอื่น สามารถระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้

3. ความรับผิดในหนี้สินของกิจการมีจำกัด

ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดในหนี้สินของกิจการเพียงมูลค่าที่ตนยังค้างชำระ เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ถือหุ้นได้

4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

บริษัทเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ เมื่อมีผลประกอบการขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี

วิธีจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

1. เข้าจองชื่อบริษัทในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เริ่มจากการเข้าไปสมัครสมาชิกและตรวจสอบชื่อที่ต้องการจองว่าไม่ใช่ชื่อที่เหมือน หรืออ่านออกเสียงตรงกัน หรือคล้ายคลึงกับนิติบุคคลอื่นที่ได้จองหรือจดทะเบียนไว้ก่อน ผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th เมื่อได้รับการยืนยันจากนายทะเบียน ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแจ้งยืนยันกลับมาทางอีเมลของผู้ประกอบการ จากนั้นผู้ประกอบการต้องไปดำเนินการจดทะเบียนในชื่อดังกล่าวภายใน 30 วัน นับจากวันที่นายทะเบียนได้รับรองชื่อ

2. จัดเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนบริษัท

2.1 ชื่อบริษัท

ต้องเป็นชื่อที่ได้จองไว้และได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนแล้วในข้อ 1

2.2 ที่ตั้งสำนักงาน

ควรใช้เป็นภูมิลำเนาของบริษัทที่สามารถติดต่อได้

2.3 วัตถุประสงค์ของบริษัท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีรูปแบบวัตถุประสงค์ที่สำเร็จรูปตามประเภทของธุรกิจให้ดาวน์โหลดได้ อย่างไรก็ตามกิจการสามารถระบุวัตถุประสงค์เพิ่มเติมให้ใกล้เคียงกับรูปแบบธุรกิจหรือเป็นวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมกิจการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

2.4 ทุนจดทะเบียนบริษัท

ส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนที่ 1 ล้านบาท

2.5 ข้อมูลผู้ก่อการ

ผู้ก่อการ หมายถึง ผู้ก่อตั้ง โดยในการจดทะเบียนบริษัทต้องมีผู้ก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป

2.6 ข้อมูลผู้ถือหุ้น

ชื่อ สกุล ที่อยู่ของผู้ถือหุ้นแต่ละคน โดยผู้ก่อการต้องเป็นผู้ถือหุ้นด้วย แต่บุคคลอื่นสามารถเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทได้

2.7 ข้อมูลพยาน

ชื่อ สกุล ที่อยู่ ของพยานจำนวน 2 คน

2.8 รายละเอียดการประชุมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

มีข้อมูลที่ต้องที่ต้องจัดเตรียม ดังนี้

ก. ข้อบังคับบริษัท เป็นข้อกำหนดหรือระเบียบของบริษัท เกี่ยวกับการบริหารจัดการสำคัญๆซึ่งตกลงกันโดยผุ้ถือหุ้นของบริษัทนั้น โดยข้อบังคับของบริษัทจะผูกพันและใช้บังคับกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเช่น กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น

ข. ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัท เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการจัดตั้งบริษัท

ค. เรื่องหุ้น จำนวนเงินที่ใช้ในการชำระค่าหุ้นสามัญครั้งแรก

ง. รายชื่อกรรมการและอำนาจกรรมการ เป็นการกำหนดจำนวนหรือชื่อกรรมการที่ลงชื่อผูกพันบริษัทในการทำธุรกรรมต่างๆและถ้ากำหนดการลงนามของกรรมการพร้อมตราประทับต้องจัดให้มีตราประทับด้วย

จ. ข้อมูลผู้สอบบัญชี ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เลขที่ผู้สอบบัญชี ค่าสอบบัญชี (เบื้องต้นใส่เป็นยอดประมาณการ)

3. จัดทำเอกสาร เพื่อยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เอกสารที่ต้องจัดเตรียมในการจดะเบียนบริษัท ได้แก่ คำขอจดทะเบียนบริษัท, แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัท, รายการจดทะเบียนจัดตั้ง, รายละเอียดกรรมการ, บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น, รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท, ข้อบังคับ, หลักฐานการชำระค่าหุ้น

จดทะเบียนนิติบุคคล

นอกจากนี้ยังสามารถจดทะเบียนทางออนไลน์ได้ที่ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์
(e-Registration) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

เพียงเท่านี้ผู้ประกอบการก็พร้อมแล้วที่จะดำเนินการจดทะเบียนบริษัท โดยสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองหรือว่าจ้างสำนักงานบัญชีที่มีประสบการณ์ในงานจดทะเบียน ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการจัดเตรียมเอกสารและการดำเนินการจดทะเบียนจะสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และ PEAK ยังมีบริการแนะนำสำนักงานบัญชีที่รับจดทะเบียนบริษัท พร้อมทั้งจัดทำบัญชีทั่วประเทศ

ค้นหาสำนักงานบัญชีใกล้คุณ ที่เชี่ยวชาญในธุรกิจของคุณ
คลิกที่นี่ https://peakaccount.com/accounting-service