ทำความรู้จักค่าใช้จ่ายบวกกลับทางภาษี

โดยทั่วไปบริษัทคำนวณกำไรสุทธิทางบัญชีจากรายได้หักด้วยรายจ่าย แต่ในการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี กิจการต้องนำรายจ่ายที่กรมสรรพากรไม่ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีมาปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชี

ค่าใช้จ่ายบวกกลับทางภาษีคืออะไร

ค่าใช้จ่ายบวกกลับทางภาษี

ค่าใช้จ่ายบวกกลับทางภาษี คือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการนิติบุคคล ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ถูกบันทึกบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดขึ้น แต่รายการดังกล่าวในทางภาษีไม่ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ซึ่งรายการค่าใช้จ่ายบวกกลับดังกล่าว ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ในมาตรา 65 ตรี เป็นรายจ่ายต้องห้าม ในที่นี้จะขอกล่าวถึงรายการค่าใช้จ่ายหลักๆดังต่อไปนี้

1. รายจ่ายส่วนตัว

หมายถึงรายจ่ายที่พนักงานหรือผู้บริหารรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของตนเป็นการส่วนตัวและเป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัท เช่นค่าใช้จ่ายซื้อของตกแต่งบ้านของผู้บริหาร ค่าตั๋วชมภาพยนตร์ของผู้บริหาร เป็นต้น รวมทั้งรายจ่ายที่อยู่นอกระเบียบของบริษัท ได้แก่ ค่าน้ำมันของผู้บริหารหรือเงินช่วยเหลืองานบวชพนักงานที่เกินจากสวัสดิการที่กำหนดไว้ เป็นต้น

2. ค่ารับรองหรือค่าบริการส่วนที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์โดยกฏกระทรวงฉบับที่ 143

โดยกฏกระทรวงฉบับที่ 143 พ.ศ.2522 กำหนดว่าค่ารับรองหรือค่าบริการที่จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

2.1 ลักษณะของค่ารับรองหรือค่าบริการ

ก. เป็นค่ารับรองหรือค่าบริการที่จำเป็นตามประเพณีธุรกิจทั่วไป โดยบุคคลที่ได้รับการรับรองต้องไม่ใช่ลูกจ้างของบริษัท เว้นแต่ลูกจ้างผู้นั้นมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือบริการนั้นด้วย

ข. เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือการบริการที่จะอำนวยประโยชน์แก่กิจการ เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าดูมหรสพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการกีฬา เป็นต้น

ค. เป็นค่าสิ่งของที่ให้แก่บุคคล ซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการไม่เกินคนละ  2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ

2.2 จำนวนเงิน

จำนวนเงินค่ารับรองและค่าบริการให้นำมาหักเป้นรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนที่ต้องจ่าย แต่รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 0.3 ของจำนวนเงินยอดรายได้หรือยอดขายที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายใด ในรอบระยะเวลาบัญชีหรือของจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วถึงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ทั้งนี้รายจ่ายที่จะนำมาหักได้ต้องมีจำนวนสูงสุดไม่เกิน 10ล้านบาท

2.3 หลักฐานและการอนุมัติ

ค่ารับรองหรือค่าบริการนั้น ต้องมีกรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าวเป็นผู้อนุมัติหรือสั่งจ่ายค่ารับรอง หรือค่าบริการนั้นด้วย และต้องมีใบรับหรือหลักฐานของผู้รับสำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่ารับรองหรือเป็นค่าบริการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้รับเงินไม่มีหน้าที่ต้องออกใบรับตามประมวลรัษฎากร     

3. เบี้ยปรับ เงินเพิ่มทางภาษีอากร ค่าปรับอาญา

          เบี้ยปรับ : เป็นมาตรการการลงโทษทางแพ่งกับผู้ประกอบการที่เสียภาษีไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร

          เงินเพิ่ม : เป็นมาตรการการลงโทษทางแพ่งกับผู้ประกอบการที่ไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีครบถ้วนภายในกำหนดเวลา

          ค่าปรับทางอาญา : เป็นจำนวนเงินที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษทางอาญาแก่ผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย

4. รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ

ได้แก่ รายจ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์สำนักงาน หรือ ค่าจ้างส่งเอกสารที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐาน,บิลเงินสดจากการจ่ายค่าใช้จ่าย ที่กิจการได้รับมาโดยไม่ระบุ ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ให้บริการ

รายจ่ายต้องห้ามที่กล่าวมาข้างต้น กิจการต้องนำมาเป็นค่าใช้จ่ายบวกกลับจากกำไรสุทธิทางบัญชีเพื่อคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี

ตัวอย่างการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี

ตัวอย่างการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี

บริษัท ก ปี 2563
– มีรายได้ 2,000,000 บาท
– รายจ่าย 1,900,000 บาท
– กำไรสุทธิทางบัญชี   100,000 บาท
– ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 1,000,000 บาท
– มีรายการรายจ่ายต้องห้ามที่เป็นค่าใช้จ่ายบวกกลับทางภาษีรวม 10,000 บาท ประกอบด้วย
1. ค่าน้ำมันของผู้บริหารที่เกินจากสวัสดิการที่กำหนด -3,000 บาท
2. ค่ารับรองส่วนที่เกินจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 143 เท่ากับ 4,000 บาท ค่ารับรองที่จ่ายจริง 10,000 บาท  
ค่ารับรองที่เป็นค่าใช้จ่ายในทางภาษีได้ เท่ากับ 0.3 ของรายได้หรือจำนวนเงินทุนที่ได้รับชำระแล้วแล้วแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า เท่ากับ 0.3% x 2,000,000 บาท = 6,000 บาท
ดังนั้นค่ารับรองที่เป็นค่าใช้จ่ายบวกกลับ เท่ากับ 10,000-6,000=4,000 บาท
3. เบี้ยปรับทางภาษี 2,000 บาท
4. บิลเงินสดค่าซ่อมแซมที่ไม่มีข้อมูลผู้รับเงิน 1,000 บาท

การคำนวณกำไรสุทธิทางภาษี

กำไรสุทธิทางภาษี = กำไรสุทธิทางบัญชี+ค่าใช้จ่ายบวกกลับทางภาษี

                       = 100,000+10,000 บาท

                       = 110,000 บาท

กิจการสามารถวางแผนภาษีได้โดยการลดรายจ่ายต้องห้ามที่กฎหมายภาษีไม่อนุญาตให้นำมาคำนวณเป็นรายจ่าย ได้แก่ การบันทึกค่ารับรองทางบัญชีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด, การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไม่ใช่รายจ่ายส่วนตัว หรือการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ถูกต้องและยื่นภายในกำหนดเวลา เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เป็นต้น

PEAK มีสำนักงานบัญชีพันธมิตรมากกว่า 500 รายทั่วประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการบัญชีภาษี ช่วยผู้ประกอบการจัดการและวางแผนเรื่องภาษีได้

สมัครใช้งานโปรแกรมบัญชี PEAK ฟรี คลิก peakaccount.com
หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง inbox ของ Facebook PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์