accounting-sso-unemployee

ช่วงนี้คุณคงได้ยินข่าวลูกจ้างบริษัท ตกงาน ถูกเลิกจ้าง หรือทางบริษัทมีโครงการให้ลูกจ้างลาออกโดยสมัครใจ นอกจากลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างแล้ว หากลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เงื่อนไขของผู้ประกันตนที่ถือว่าเป็นคนว่างงาน

ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง,ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดเวลา กรณีที่เข้าเงื่อนไขถือว่าเป็นคนว่างงานตามกฎหมายประกันสังคมนั้น มีดังนี้

  1. ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
  2. มีระยะเวลาว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
  3. ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณีดังต่อไปนี้
    1. ทำการทุจริตต่อหน้าที่
    2. กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
    3. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
    4. ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
    5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
    6. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
    7. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา

สิทธิประโยชน์ที่ได้จะระหว่างว่างงาน

1.กรณีผู้ประกันตนถูกเลิกจ้าง

ผู้ว่างงานจะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบครั้งละไม่เกิน 180 วัน

ตัวอย่าง เช่น นาย ก เป็นผู้ประกันตน มีเงินเดือน 10,000 บาท ถูกบริษัทเลิกจ้าง เมื่อยื่นรับเงินทดแทนจะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาท

ในกรณียื่นคำขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างหรือเหตุถูกเลิกจ้างและลาออกเกินกว่า 1 ครั้งภายในหนึ่งปีปฏิทินมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 180 วัน

2.กรณีผุู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา

ผู้ว่างงานจะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบครั้งละไม่เกิน 90 วัน

ตัวอย่าง เช่น นาย ข เป็นผู้ประกันตน มีเงินเดือน 10,000 บาท ลาออกจากบริษัท เมื่อยื่นรับเงินทดแทนจะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 3,000 บาท

ในกรณียื่นขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกเกินกว่า 1 ครั้งภายในหนึ่งปีปฏิทินมีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน

ขั้นตอนการลงทะเบียนสำหรับบุคคลว่างงาน

ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนการว่างงานผ่านระบบออนไลน์ของกรมการจัดหางาน หรือเดินทางไปยื่นเอกสารด้วยตนเองภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้างหรือสิ้นสุดสัญญาจึงจะมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานนับแต่วันที่ 8 ของการว่างงาน โดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ลงทะเบียนบุคคลว่างงาน – ออนไลน์

ขั้ั้นตอนการลงทะเบียนสำหรับบุคคลว่างงาน

กรมการจัดหางานได้ดำเนินการจัดทำระบบการขึ้นทะเบียนและรายงานตัวสำหรับบุคคลว่างงาน โดยผู้ประกันตนสามารถขึ้นทะเบียนการว่างงานได้ที่เว็บไซต์ กรมการจัดหางาน และดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.1 ผู้ที่ยังไม่เคยขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานทำการลงทะเบียนเข้าใช้งาน และทำตามขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอนจนครบถ้วน

ขั้นตอนที่ 1 อ่านทำความเข้าใจข้อตกลงการใช้บริการ หลังจากกดยอมรับและเข้าใช้งานแล้วกดขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 2 ตรวจสอบเลขบัตรประจำตัวประชาชน

ขั้นตอนที่ 3 กรอกข้อมูลส่วนตัว

ขั้นตอนที่ 4 บันทึกการลงทะเบียน

1.2 เมื่อการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ระบบจะออกหนังสือรับรองและแจ้งวันที่นัดรายงานตัวของผู้ประกันตน

1.3 ผู้ประกันตนพิมพ์เอกสารนัดรายงานตัวและแบบสปส.2-01/7 (แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน)

1.4 ผู้ประกันตนนำเอกสารดังต่อไปนี้ยื่นที่สำนักงานประกันสังคม

  • แบบสปส.2-01/7 ที่กรอกข้อมูลครบถ้วน
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ประกันตน
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ประกันตน

2. ลงทะเบียนบุคคลว่างงาน – ด้วยตัวเอง

การลงทะเบียนบุคลลว่างงานด้วยตนเอง

2.1 ผู้ประกันตนไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักจัดหางาน กรมการจัดหางาน

2.2 ผู้ประกันตนกรอกแบบฟอร์มใบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐานดังนี้

  • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว 1 รูป (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)

2.3 กรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน พร้อมด้วยหลักฐานหนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการออกจากงาน (สปส 6-09) หรือ หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างที่ให้ออกจากงาน รวมทั้งสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ประกันตน

2.4. เจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานทำการสัมภาษณ์/ตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติการทำงานของผู้ประกันตนและบันทึกสถานะผู้ประกันตนกรณีว่างงานเข้าสู่ฐานข้อมูลกลาง

2.5. เจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมดึงข้อมูลผู้ประกันตนกรณีว่างงานขึ้นมาวินิจฉัยตามเงื่อนไขในการเกิดสิทธิ

2.6. เมื่อคุณสมบัติครบถ้วน สำนักงานประกันสังคมทำการโอนเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิให้ผู้ประกันตน ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนเดือนละ 1 ครั้ง

2.7. หากผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่พอใจคำสั่งจ่ายประโยชน์ทดแทน สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง