หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี

หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไหร่?

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “ใบกำกับภาษีต้องรู้” หากคุณยังไม่ได้อ่านบทความอันก่อนๆ แนะนำให้ลองดูลิงค์ด้านล่างได้

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงว่า ถ้าคุณเป็นผู้ประกอบการ คุณจะต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อไหร่ จุดรับรู้ภาษีมูลค่าเพิ่มคือตรงไหน โดยผมจะขอสรุปง่ายๆ ดังนี้ 

ความเข้าใจของคนทั่วไปจะพูดกันว่า

  • ถ้าขายสินค้า ออกใบกำกับภาษีเมื่อส่งมอบ
  • ถ้าให้บริการ ออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับเงิน

ซึ่งก็ไม่ได้ผิด แต่ไม่ได้ครบถ้วนทั้งหมด เพราะว่าจริงๆ จังหวะในการออกใบกำกับภาษี หรือจุดรับรู้ภาษี จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือขายสินค้า และให้บริการ

หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้า

จะแบ่งเป็น 3 ส่วนตามกฎหมายคือ 

(1) ส่งมอบสินค้า : เมื่อมีการส่งมอบสินค้า ให้ออกใบกำกับภาษีพร้อมกันด้วย อันนี้จะเป็นกรณีที่พบมากที่สุดในการซื้อขายของทั่วไปๆ แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระค่าสินค้า

(2) รับชำระค่าสินค้าก่อนส่งมอบ : เมื่อมีการรับเงินสำหรับค่าสินค้า แม้ว่าจะยังไม่ได้ส่งมอบก็ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย นั่นหมายความว่ามัดจำก็ต้องออกใบกำกับภาษีด้วยเช่นกัน  

(3) โอนกรรมสิทธิให้ลูกค้าก่อนส่งมอบ : เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิให้ลูกค้าก่อนส่งมอบ ก็ต้องออกใบกำกับภาษีเลยทันทีที่ส่งมอบ แม้ว่ายังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า หรือยังไม่ได้รับชำระเงินก็ตาม

ในทางปฏิบัติ เรามักจะเจอกรณีที่ 
1. ส่งมอบสินค้าในรูปแบบของการซื้อขายทั่วไป หรือ 
2. รับชำระค่าสินค้าก่อนส่งมอบในรูปแบบของเงินมัดจำ เป็นส่วนใหญ่

หลักเกณฑ์การออกใบกำกับภาษี สำหรับการให้บริการ

จะแบ่งเป็น 2 ส่วนตามกฎหมายคือ

(1) รับชำระค่าบริการก่อนให้บริการ : แม้ว่าจะยังไม่ได้ให้บริการ แต่ถ้าได้รับค่าบริการแล้ว เราก็ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับค่าบริการด้วย
(2) มีการใช้บริการก่อนชำระค่าบริการ : แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระเงิน แต่ถ้าได้มีการให้บริการแล้วก็ต้องออกใบกำกับภาษีด้วย

แต่!! ในทางปฏิบัติสำหรับการออกใบกำกับภาษีการให้บริการ กรณีที่มักจะทำกัน คือออกใบกำกับภาษีเมื่อรับเงิน ไม่ว่าจะก่อน หรือหลังกจากให้บริการแล้ว ซึ่งจริงๆก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะว่าถ้าเราให้บริการไปแล้ว ก็ต้องออกใบกำกับภาษีทันที แม้ว่าจะยังไม่ได้รับเงิน ตามเงื่อนไขที่ (2) คือมีการใช้บริการก่อนชำระค่าบริการ อย่างไรก็ตาม ปกติการให้บริการ กับการชำระเงิน มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกัน หรือไม่ห่างกันมากนัก และหลายๆครั้งก็เป็นการจ่ายก่อนให้บริการ ดังนั้น คนทั่วไปจึงมักเข้าใจว่า ออกใบกำกับภาษีสำหรับการให้บริการเมื่อได้รับเงิน

หวังว่าในบทความนี้คุณ ผู้อ่านจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ถ้าคุณจะต้องออกใบกำกับภาษี ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อใด และออกใบกำกับภาษีในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง สำหรับความรู้อื่นๆเกี่ยวกับใบกำกับภาษี สามารถดูได้ที่ด้านล่างนี้

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความชุด “ใบกำกับภาษีต้องรู้”

ติดตามความรู้ของ PEAK ที่

Blog : http://blogpeakaccount.todsorb.dev

Facebook : facebook.com/peakengine